|
การเพาะเห็ดในถุงพลาสติกส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้แรงงานคนเป็นหลัก
แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่กำลังประสบ
กับปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และปัญหาแรงงานภาคเกษตรกรรมที่ขาดแคลน มีผลกระทบทำให้ฟาร์มต่างๆประสบกับปัญหาดังกล่าว เกษตรกรและผู้ประกอบการ จึงร่วมมือกันทำการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องจักรกลเกษตรสำหรับการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกขึ้น เพื่อช่วยใน การลดต้นทุนในการผลิตลง และแบ่งเบาภาระทางด้านแรงงาน เครื่องจักรกลเกษตรที่ได้คิดค้นประดิษฐ์ขึ้น ได้แก่ เครื่องผสมขี้เลื่อย ใช้ผสมขี้เลื่อย,ฟางหมักและอาหารเสริมต่างๆโดยเกษตรกรจะต้องเตรียมส่วนผสมให้พร้อมเสียก่อนจึงเดินเครื่องผสมพร้อมกับ ใส่ส่วนผสมต่างๆลงไป จนครบตามสูตรมาตรฐานการเพาะเห็ด เครื่องอัดขี้เลื่อย โดยหลังจากที่ผสมขี้เลื่อยเสร็จแล้ว บรรจุขี้เลื่อยลงบนถุงพลาสติกให้ได้จำนวนตามต้องการ แล้วจึงนำมาอัดทีละถุง โดยใช้เครื่องอัดขี้เลื่อย ให้ได้ความแน่นตามต้องการ จากนั้นจึงนำไปเข้าคอขวด และดำเนินในขั้นต่อไป เครื่องบรรจุขี้เลื่อยแบบกึ่งอัตโนมัติ จะเหมาะสำหรับในฟาร์มเห็ดขนาดกลางและใหญ่ที่ประกอบการจำหน่ายถุงอัดขี้เลื่อยบรรจุเสร็จแก่ เกษตรกรรายย่อยซึ่งต้องทำการบรรจุขี้เลื่อยเป็นจำนวนมากหลายพันก้อนต่อวันและประสบปัญหาด้านแรงงานในท้องถิ่นจะสามารถแบ่งเบา ภาระการบรรจุอัดขี้เลื่อยลงได้เป็นอย่างดี เครื่องอัดฟางหมัก ใช้อัดฟางหมักหรือวัสดุต่างๆ สำหรับการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกจำพวกเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เป็นต้น โดยการบรรจุฟางหมักลงในกระบอกอัด แล้วทำการอัด จากนั้นเปิดฝาทำการอัดฟางใส่ถุงพลาสติก นำไปเข้าคอขวดพลาสติก แล้วรัดด้วยยางวง ถังหรือตู้นึ่งฆ่าเชื้อ ใช้นึ่งฆ่าเชื้อต่างๆที่ปนมากับวัสดุเพาะเห็ด โดยการใช้งานจะมีการนำเอาถุงบรรจุวัสดุเพาะเห็ดเรียงบรรจุในตระกร้าเหล็ก นำวางซ้อนกันในถังหรือตู้นึ่งจนกระทั่งเต็ม ตรวจเช็คระดับน้ำ ควบคุมอุณหภูมิไอน้ำร้อนภายในถัง ให้ได้ตามอุณหภูมิและเวลาที่กำหนด เครื่องแยกขี้เลื่อยจากถุงเพาะเห็ดที่ใช้แล้ว จากการที่มีเศษถุงปนลงไปกับขี้เลื่อยและพันกับแกนลูกตี ในเครื่องแยกขี้เลื่อยซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงาน ได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการพัฒนาเครื่องแยกขี้เลื่อยจากถุงเพาะเห็ดที่ใช้แล้วเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ให้ปราศจากมลภาวะของถุงพลาสติกได้อีกทางหนึ่ง เครื่องสับฟาง ใช้สับฟางหญ้า โดยเกษตรกรจะต้องเตรียมฟางที่ผ่านการนวดข้าวมาแล้ว ซึ่งมีลักษณะมัดเป็นฟ่อน หรือจะเป็นตอซังข้าวที่ถอนมา จากนั้นทำการสับให้เป็นท่อนตามจำนวนที่ต้องการ ท่านใดที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงเสน จังหวัดนครปฐม |
![]() |
![]() |